Thursday, September 24, 2015

ถ่ายภาพนก (Bird Photography)

นกกระเต็นน้อยธรรมดา
ชื่อภาษาอังกฤษ: Common Kingfisher; ชื่อวิทยาศาสตร์: Alcedo atthis

นกกระเต็นน้อยธรรมด ที่พบในประเทศไทยส่วนใหญ่มีสถานะเป็นนกอพยพ ที่หนีหนาวจากบริเวณตอนเหนือของทวีปยุโรปในช่วงฤดูหนาวมายังตอนใต้ของทวีปเอเชียที่อบอุ่นกว่า เราจึงพบเห็นนกกระเต็นน้อยธรรมดาได้บ่อยในประเทศไทยช่วงฤดูหนาว ภาพด้านล่างเป็นภาพที่ถ่ายในช่วงปี 2555 - 2558 ส่วนใหญ่จะถ่ายได้ในช่วงฤดูหนาว

นกกระเต็นน้อยธรรมดา @ กรุงเทพ ประเทศไทย (18 กุมภาพันธ์ 2561)
นกกระเต็นน้อยธรรมดา @ กรุงเทพ ประเทศไทย (24 กันยายน 2558 )
นกกระเต็นน้อยธรรมดา @ สมุทรปราการ ประเทศไทย (23 ตุลาคม 2557)
นกกระเต็นน้อยธรรมดา @ กรุงเทพ ประเทศไทย (28 สิงหาคม 2556)
นกกระเต็นน้อยธรรมดา @ สมุทรปราการ ประเทศไทย (11 พฤศจิกายน 2555)
นกกระเต็นน้อยธรรมดา @ กรุงเทพ ประเทศไทย (11 มีนาคม 2555)

ถ่ายภาพนกสนุกตรงไหน 

การถ่ายภาพนก เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น ท้าทาย และผจญภัย เป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดความรักและเมตตาต่อนก สัตว์โลกตัวเล็ก ๆ ที่มีสีสันสวยสด และเกิดความรัก ความหวงแหน ป่าไม้และระบบนิเวศ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย ทำรัง วางไข่ ของนกอีกด้วย

ก่อนที่จะเล่าเรื่องการถ่ายภาพนก ขอฝากกฎของนักถ่ายภาพนก ที่ว่า"นกต้องมาก่อน" หมายความว่า การถ่ายภาพนก นั้น จะต้องไม่รบกวนนก ต้องหักใจไม่ถ่ายภาพนกถ้าเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการรบกวนหรือจะนำภัยมาสู่นก ความสังสัยคือ แค่ไหนที่ถือว่าเป็นการรบกวนนก แบบไหนถึงจะเป็นการนำภัยมาสู่นก คำตอบก็คือ อยู่ที่ใจคุณ ความรักและเมตตาที่คุณมีต่อนก จะเป็นสิ่งที่จะบอกว่า เมื่อไหร่ควรงดเพื่อไม่ให้ภัยไปสู่นก ระยะหว่างประมาณไหนถึงจะไม่รบกวน

กว่าจะได้ภาพนก
การจะได้ภาพนกสักภาพนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย เพราะมีปัญหาอุปสรรคมากมายมาคอยขัดขวาง แต่ถ้าเรามีความรู้เรื่องธรรมชาติของนก มีเวลา มีความอดทน มีอุปกรณ์ในการถ่ายภาพที่เหมาะสม และมีเทคนิคในการถ่ายภาพนก การจะได้ภาพนกก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไป

ธรรมชาติของนก
นกในธรรมชาติเป็นสัตว์ที่มีความระวังภัยสูง และไม่ชอบให้มนุษย์อย่างเรา ๆ เข้าใกล้ (สงสัยจะรังเกียจ) เมื่อมีคนเข้าไปใกล้ก็จะบินหนีไปทันที นกมีสายตาที่ยอดเยี่ยมมาก นกส่วนใหญ่สามารถมองเห็นสีในธรรมชาติได้ดีกว่ามนุษย์ เห็นสีที่มนุษย์มองไม่เห็น (invisible to the human eyes) เห็นรายละเอียดของวัตถุเล็ก ๆ ที่อยู่ไกลออกไป นอกจากจะมีสายตาที่ยอดเยี่ยมแล้ว ความสามารถในการรับฟังของนกก็ดีไม่น้อยไปกว่าการมองเห็น นกสามารถรับฟังและแยกแยะเสียงได้เป็นอย่างดี ดังนั้นการที่จะเดินเข้าไปถ่ายนกที่เกาะตามกิ่งไม้ แบบที่เอาเลนส์ไปจ่อ นั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย 

เมื่อรู้ว่าการมองเห็นและการรับฟังของนกนั้นยอดเยี่ยม วิธีที่จะเข้าไปใกล้นก ก็จะต้องพลางตัวให้มากที่สุดด้วยการแต่งกายด้วยเสือผ้าที่มีสีใกล้เคียงกับธรรมชาติที่นกอาศัยอยู่ เช่นสีเขียว สีน้ำตาล สีลายพรางต่างๆ เพื่อไม่ทำให้เป็นที่ผิดสังเกตุมากนัก และต้องเงียบให้มากที่สุด แต่ถ้าต้องการเข้าใกล้นกมากกว่านั้น จะต้องเลือกวิธีนั่งบังไพรหรือที่เรียกกันว่านั่งไบลด์ (ฺBlind) การนั่งบังไพรถ่ายนกนั้น จะต้องรู้สถานที่และเวลาที่นกมาเป็นประจำ จะต้องตั้งบังไพรก่อนเวลาที่นกจะมา และก็ รอ รอ รอ ... แล้วที่สุดเมื่อนกบินมาเกาะตรงหน้าเรา ความสุขขั้นสูงจะบังเกิด ใจจะเริ่มเต้นรัว เลือดสูบฉีดไปทั่วร่างกาย เสียงชัตเตอร์ก็จะเริ่มดังรัวถี่ยิบ นกก็จะหันมามองซ้ายที-ขวาที อย่างสงสัย เสียงอะไร ???


ความรัก ความอดทน และเวลา
การถ่ายนกนั้น ต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่ารักจริง เพราะจะต้องซื้อหาอุปกรณ์ถ่ายภาพที่มีราคา สูงต้องมีเวลาให้กับการถ่ายนก ต้องตื่นแต่เช้ามืดเพื่อออกไปถ่ายนก ต้องอดทนแบกอุปกรณ์ถ่ายภาพที่มีน้ำหนักมากเดินลัดเลาะไปตามป่า อดทนต่ออากาศที่ร้อน อดทนต่อการนั่งบังไพรเป็นเวลานาน ต้องคอยระวังแมลง ที่คอยก่อความรำคาญ และสัตว์มีพิษต่าง ๆ


อุปกรณ์ในการถ่ายภาพที่เหมาะสม
อาศัยแค่ความรักในการถ่ายภาพนกอย่างเดียว คงจะไม่ได้ภาพนกแน่นอน จำเป็นจะต้องมี กล้องถ่ายภาพ เลนส์ และขาตั้งกล้อง ที่เหมาะสม

1 กล้องถ่ายภาพ กล้องถ่ายภาพนกควรเป็นประเภทกล้องดิจิทัล (DSLR) เนื่องจากมีข้อดีหลายอย่าง เช่น สามารถดูภาพที่ถ่ายได้ทันที มีให้เลือกมากมายหลายยี่ห้อ เช่น Nikon Canon Sony แต่จะเลือกกล้องค่ายไหนก็พิจารณาให้ดีนะครับ เพราะกล้องแต่ละค่ายจะต้องใช้คู่กับเลนส์ของค่ายนั้น ๆ หรือใช้คู่กับเลนส์ของค่ายอิสระที่ทำมาเพื่อกล้องของแต่ละค่าย สำหรับกล้องดิจิทัล พอจะแบ่งเป็นกลุ่มตามคุณภาพและฟังก์ชันการใช้งานของกล้องดังนี้ กลุ่มผู้เริ่มต้น (Entry Level) กลุ่มกิ่งมืออาชีพ (Semi-Pro Level) และ กลุ่มมืออาชีพ (Pro Level) โดยกล้องในกลุ่มมืออาชีพจะเป็นกล้องที่มีคุณภาพและฟังก์ชันสูงที่สุด และก็มีราคาสูงที่สุดด้วย สำหรับกล้องที่จะใช้ในการถ่ายภาพนก แนะนำว่าเริ่มกับกล้องกลุ่มกึ่งมืออาชีพ (Semi-Pro Level) ก็เหมาะดีครับ เช่น Nikon D7200, Nikon D500 หรือ Canon 7D Mark II ก็ได้แจ่มๆ ทั้งนั้นครับ  ราคาอยู่ที่ประมาณ 40,000 - 70,000 บาท แต่ถ้าราคาไม่ใช้ข้อจำกัดของท่าน ก็แนะนำให้เลือกกล้องในกลุ่มมืออาชีพได้เลยครับ 

2 เลนส์
อุปกรณ์สำคัญที่ต้องใช้ในการถ่ายภาพนก คือ เลนส์เทเล  เพราะการใช้ เลนส์นอมอล (ช่วง 15 - 50mm) ที่มาพร้อมกับกล้อง  ถ่ายนกที่อยู่ห่างจากเรา ระยะ 10 เมตร ขึ้นไปนั้น จะได้ภาพนก ขนาดตัวเล็กกระติ๊ดเดียว (หาแทบไม่เจอ) แล้วจะทำยังไงถึงจะได้ภาพนกใหญ่ขึ้นมาอีกนิด ? คำตอบคือ ต้องใช้ เลนส์เทเล ครับ ส่วนจะได้ภาพนกใหญ่ขึ้นมาอีกขนาดไหน ก็ขึ้นอยู่กับกำลังขยายของ เลนส์เทเล นั้น ๆ (คุณภาพและกำลังขยาย จะมาพร้อมราคาขอบอก) สำหรับเลนส์เทเลที่นักถ่ายนกทั่วไปใช้กันอยู่นั้น  พอจะแบ่งเป็นกลุ่มตามราคา (คุณภาพและกำลังขยาย) ได้ดังนี้
  1. ราคาน่าสนใจ (ราคา 40,000+ บาท)
    1. Nikon AF-S 300mm F4D IF ED     
    2. Canon EF 300/4L IS                        
  2. ราคาสูง (ราคา 200,000+ บาท)
    1. Nikon AF-S VR II 300mm F2.8G ED    
    2. Canon EF 300/2.8 IS II U              
  3. ราคาสุดยอด (ราคา 300,000+ บาท)
    1. Nikon AF-S 600mm F/4G-ED
    2. Canon EF 600/4L IS      
    3. Nikon AF-S 800mm F/5.6E FL ED VR     
    4. Canon EF 800/5.6L IS USM
สำหรับผม เลนส์ที่ว่ามาทั้งหมดด้านบนนั้น ผมไม่มีสักอัน ยังคงใช้เลนส์ซูมของค่ายอิสระ ระยะ 70-300 mm ราคาเอื่อมถึงอยู่ครับ เอาไว้ถูกสลากกินแบ่งรัฐบาลเมื่อไหร่ จะถอย AF-S 800mm F/5.6E FL ED VR มาถ่ายนกให้ดูครับ

3 ขาตั้งกล้อง
ขาตั้งกล้องเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญและจำเป็นมากในการถ่ายภาพนก เพราะช่วยให้ได้ภาพที่มีความคมชัดและเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยรองรับน้ำหนักของกล้องและเลนส์แทนเรา เลนส์โตๆ กล้องใหญ่ๆ ถือนานๆ รับรองมีอาการเมื่อยเกิดขึ้นแน่นอน อย่างเช่นเลนส์ Nikon 600mm f/4G VR เป็นเลนส์ที่นักถ่ายภาพสัตว์ป่ามืออาชีพใช้กัน มีน้ำหนักประมาณ 5.06 กิโลกรัม ยิ่งถ้าต่อเข้ากับกล้อง Nikon D3s น้ำหนักรวมกันอยู่ที่ประมาณ 6.5 กิโลกรัม (เท่านั้นเอง) ด้วยน้ำหนักของเลนส์ที่มาก การจะถือกล้องด้วยมือจึงเป็นเรื่องลำบากมาก จำเป็นต้องมีขาตั้งกล้องที่มีความแข็งแรงเพียงพอมารองรับ เช่นของ Gitzo Systematic + Wimberley Gimbal head 

สำหรับราคาอุปกรณ์ในการถ่ายภาพนก ราคารวมจะอยู่ที่ประมาณ 80,000 - 450,000 บาท แต่สำหรับผู้ที่มีงบประมาณจำกัด อาจเริ่มต้นด้วยกล้องดิจิทัลในกลุ่มผู้เริ่มต้น (Entry Level) ราคา 25,000 บาท คู่กับเลนส์ซูมช่วง 70 - 300mm ราคาประมาณ 16,000 บาท ราคารวมกล้องและเลนส์น่าจะประมาณ 41,000 บาท ก็พอจะได้ภาพนกแบบที่ผมภ่ายนี้แหละครับ

ย้ำอีกที ไม่ต้องมีอุปกรณ์แพงๆ ก็ได้นะครับ ขอให้เราพอใจกับสิ่งที่เรามี และใช้มันให้เต็มประสิทธิภาพ อาศัยเทคนิคเข้าช่วยอีกหน่อย รับรองได้ภาพนกดีๆ แน่นอน

4. กำลังขยายของเลนส์ถ่ายภาพ (Magnification)
กำลังขยายของเลนส์ (Magnification) คือความสามารถในการดึงภาพวัตถุระยะไกลให้ดูเหมือนอยู่ในระยะไกล้ขึ้น เช่น กล้องส่องทางไกล (Telescope) หรือ กล้องสองตา (Binoculars) จะระบุกำลังขยายเป็นจำนวนเท่า

กล้องสองตาขนาด 10x (10 เท่า) เมื่อนำมาดูนกที่เกาะอยู่ห่างออกไป 100 เมตร ก็จะเห็นเหมือนว่านกตัวนั้นอยู่ห่างเพียงแค่ 10 เมตร (100 ÷ 10 = 10) แต่ถ้าเราใช้กล้องสองตาขนาด 25x (25 เท่า) ก็จะเห็นเหมือนกับนกอยู่ห่างเพียงแค่ 4 เมตร (100 ÷ 25 = 4)

เปรียบเทียบการมองนกด้วยตาเปล่าและเลนส์ขนาดกำลังขยาย 10x

     4.1 กำลังขยายของเลนส์ถ่ายภาพ (Magnification) เมื่อใช้กับกล้องแบบ FX
สำหรับเลนส์กล้องถ่ายภาพ ไม่ได้ระบุกำลังขยายโดยตรงเหมือนกับกล้องส่องทางไกล (Telescope) หรือ กล้องสองตา (Binoculars) แต่จะระบุเป็นความยาวโฟกัสของเลนส์ (Focal length) เช่นเลนส์ขนาด 300mm, 400mm, หรือ 500mm อย่างไรก็ตามเราสามารถหากำลังขยายของเลนส์ได้ โดยการนำระยะโฟกัสของเลนส์ตัวนั้นมาหารด้วย 50 

เช่น เลนส์ขนาด 400mm จะมีกำลังขยายประมาณ 8x (400 ÷ 50 = 8) ดังนั้น ถ้านำเลนส์ตัวนี้ไปถ่ายนกที่เกาะห่างออกไป 100 เมตร ก็จะเห็นเหมือนกับว่านกอยู่ห่างจากเรา 12.5 เมตร (100 ÷ 8 = 12.5)

แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นเลนส์ขนาด 500mm ก็จะมีกำลังขยายประมาณ 10x (500 ÷ 50 = 10) ถ้านำไปถ่ายนกที่เกาะห่างออกไป 100 เมตร ก็จะเห็นเหมือนกับว่านกอยู่ห่างจากเรา 10 เมตร (100 ÷ 10 = 10) 

สำหรับเลข 50 ที่ใช้ในการหากำลังขยายของเลนส์ นั้น ได้มาจากขนาดเส้นทแยงมุม (Diagonal) ของเซ็นเซอร์รับภาพแบบ Full-frame ซึ่งปกติจะมีขนาดความสูง 24mm x ความยาว 36 mm ขนาดเส้นทแยงมุมเท่ากับ 43.2 มม. เพื่อง่ายในการคำนวณจึงปัดจาก 43.2 เป็น 50
 
สรุป เลนส์ที่มีความยาวโฟกัส (Focal length) มากขึ้น จะกำลังขยายของเลนส์ (Magnification) มากขึ้นด้วย  สำหรับกล้อง DSLR แบบ FX ถ้าใช้คู่กับเลนส์ขนาดความยาวโฟกัส 400mm จะมีกำลังขยายประมาณ 8x แต่ถ้าเปลี่ยนไปใช้คู่กับเลนส์ขนาดความยาวโฟกั 500mm ก็จะได้กำลังขยายประมาณ 10x
   4.2 กำลังขยายของเลนส์ถ่ายภาพ (Magnification) เมื่อใช้กับกล้องแบบ DX
สำหรับเซ็นเซอร์กล้อง DX แบบที่ผมใช้มีเซ็นเซอร์รับภาพประเภท APS-C (Advanced Photo System Classic Format) มีขนาด (สูง 15.6mm x ยาว 23.5 mm) ซึ่งมีขนาดเส้นทแยงมุม 28.2 มม. เล็กกว่าเซ็นเซอร์แบบ Full-frame 

ดังนั้น ถ้าใช้เลนส์ขนาด 400mm กับกล้องตัวนี้ พบว่าจะได้กำลังขยายประมาณ 14x (400 ÷ 28.2 = 14.1) ถ้าถ่ายนกที่อยู่ห่างออกไป 100 เมตร ก็จะเห็นเหมือนว่านกอยู่ห่างเพียง 7.05 เมตร (100 ÷ 14 = 7.05)

แต่ถ้าเราเปลี่ยนเป็นเลนส์ขนาด 500mm ก็จะมีกำลังขยายประมาณ 18x (500 ÷ 28.2 = 17.7) ดังนั้น ถ้าถ่ายนกที่อยู่ห่างออกไป 100 เมตร ก็จะเห็นเหมือนว่านกอยู่ห่างเพียง 5.6 เมตร (100 ÷ 17.7 = 5.6) 

จะเห็นได้ว่ากล้องแบบ DX ที่มีเซ็นเซอร์รับภาพแบบ APS-C เส้นทแยงมุม 28.2 มม. จะมีกำลังขยาย (Magnification factor) มากว่ากล้องแบบ FX ที่มีเซ็นเซอร์รับภาพแบบ Full-Frame เส้นทแยงมุมเซ็นเซอร์ 43.2 มม. กำลังขยายของกล้องแบบ DX จะมากว่ากล้องแบบ FX ประมาณ 43.2 ÷ 28.2 = 1.5 เท่า

สรุป เลนส์ที่มีความยาวโฟกัส (Focal length) เท่ากัน ถ้าใช้กับเซ็นเซอร์รับภาพที่มีขนาดเล็กกว่า จะกำลังขยายของเลนส์ (Magnification) มากกว่า

เปรียบเทียบขนาดของเซ็นเซอร์รับภาพแบบ Full-Frame และแบบ APS-C
 
    4.3 เมื่อนำภาพมาขาย
เมื่อเรานำภาพนกที่ถ่ายจากกล้อง DX กับเลนส์ขนาด 400 มม. มาขยายเป็นภาพขนาดสูง 4 นิ้ว กว้าง 6 นิ้ว (4” x 6”) หรือ (102 mm x 152 mm) เท่ากับเราขยายภาพจากเซ็นเซอร์รับภาพที่มีขนาด (15.6mm x 23.5 mm) ไปอีก 6.5 เท่า (102 ÷ 15.6 = 6.5 และ 152 ÷ 23.5 = 6.5) ดังนั้นภาพนกบนรูปขนาด (4” x 6”) จะเหมือนว่านกอยู่ห่างจากเรา 1.07 เมตร (7.05 ÷ 6.5 = 1.07)  

ขยายภาพจากเซ็นเซอร์ APS-C ไปยังกระดาษขนาด 4"x 6"

Saturday, September 19, 2015

นกกระเต็นน้อยธรรมดา (Common Kingfisher)

นกกระเต็นน้อยธรรมดา
ชื่อภาษาอังกฤษ: Common Kingfisher; ชื่อวิทยาศาสตร์: Alcedo atthis
นกกระเต็นน้อยธรรมดา @ กรุงเทพ ปรเทศไทย
นกกระเต็นน้อยธรรมดา เป็นนกตัวเล็ก ๆ ที่มีสัดส่วนหัวใหญ่ ปากยาว แต่หางสั้น ขนบริเวณหัว ลำตัวด้านบน และปีก เป็นสีฟ้า ท้องเป็นสีส้ม อมน้ำตาล มีสายตาดีมาก มักจะเกาะอยู่นิ่ง ๆ บริเวณแหล่งน้ำ เพื่อหามองหาอาหาร จำพวกปลาตัวเล็ก ๆ

นกกระเต็นน้อยธรรมดา @ กรุงเทพ ปรเทศไทย
นกกระเต็นน้อยธรรมดา ที่พบในประเทศไทยมีสถานะเป็นนกอพยพ ที่หนีหนาวจากบริเวณตอนเหนือของทวีปยุโรปในช่วงฤดูหนาวมายังตอนใต้ของทวีปเอเชียที่อบอุ่นกว่า เราจึงพบเห็นนกกระเต็นน้อยธรรมดาได้บ่อยช่วงฤดูหนาว

Common Kingfisher @ Bangkok Thailand
กรุงเทพฯ สามารถพบเห็น นกกระเต็นน้อยธรรมดา ได้ตามพื้นที่บริเวณร่องน้ำและลำธารต่างๆ โดยนกกระเต็นน้อยธรรมดา จะชอบเกาะตามกิ่งไม้เหนือพื้นน้ำเพื่อรอจังหวะกระโจนลงไปในน้ำจับปลาเป็นอาหาร


นกกระเต็นน้อยธรรมดา @ กรุงเทพ ประเทศไทย
 นกกระเต็นน้อยธรรมดา เจ้าของฉายาจอมยุทธแห่งบึงน้ำตัวนี้ บินมาเกาะกิ่งไม้ จ้องมองหาปลา

Common Kingfisher @ Bangkok Thailand
 เมื่อเจอปลา นกกระเต็นน้อยธรรมดา ตัวนี้จะบินไปเกาะปลายกิ่งไม้ ก่อนที่จะพุ่งตัวลงไปจัดปลา

นกกระเต็นน้อยธรรมดา คาบปลาที่จับมาได้ @ กรุงเทพ ประเทศไทย
จากการสังเกตุพบว่า นกกระเต็นน้อยตัวนี้จับปลาได้ประมาณ 3 - 4 ตัว ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ในการหาอาหารเย็นมื้อนี้



Sunday, April 12, 2015

นกเค้าจุด (Spotted Owlet)

นกเค้าจุก
ชื่อภาษาอังกฤษ: Spotted Owlet; ชื่อวิทยาศาสตร์: Athene brama


นกเค้าจุด @ นครปฐม ประเทศไทย

วันนี้แวะไปที่ดูนกเค้าจุด บริเวณที่เคยเจอเมื่อปีที่แล้ว เมื่อไปถึงก็เจอนกเค้าจุดเกาะกิ่งไม้ต้อนรับอยู่บริเวณเดิม นกเค้าจุดในพื้นที่กรุงเทพฯ - ปริมณฑล สามารถพบเห็นได้ตามบริเวณพื้นที่สีเขียว เช่นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ต่างๆ 



นกเค้าจุด (Spotted Owlet) เป็นนกประจำถิ่น (Resident) ของประเทศไทย คือทำรังอาศัย ผสมพันธ์ุวางไข่ และเลี้ยงดูลูก อยู่ในเมืองไทยตลอดทั้งปี นกเค้าจุดมักจะทำรังบริเวณโพรงไม้ และจะออกหาอาหารช่วงเวลากลางคืน

สถาพของนกที่พบในประเทศไทย
  1. นกประจำถิ่น (Resident)
  2. นกอพยพ (Winter visitor)
  3. นกอพยพผ่าน (Passage migrant)
  4. นกอพยพเข้ามาทำรังวางไข่ (Breeding visitor)
ถ้าลองสังเกตนกชนิดต่างๆ ที่พบในเมืองไทย พบว่านกบางชนิดสามารถพบเห็นได้ตลอดทั้งปี ขณะที่บางชนิดจะพบได้เฉพาะบางช่วงของปีเท่านั้น นกที่พบได้ตลอดทั้งปี เรียกว่า นกประจำถิ่น (Resident) คือนกที่ ทำรังวางไข่ เลี้ยงลูก และหากินในเมืองไทยตลอดทั้งปี ส่วนนกที่พบได้ในบางช่วงของปีนั้นส่วนใหญ่จะเป็นนกอพยพ แบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ ประเภทแรก นกอพยพ (Winter visitor) คือนกที่อพยพหนีอากาศหนาวเย็นในช่วงฤดูหนาวทางตอนเหนือ เข้ามาหากินในประเทศไทย และจะอพยพกลับไปทำรังวางไข่ทางตอนเหนือ ประเภทที่สองคือ นกอพยพผ่าน (Passage migrant) คือนกที่อพยพหนีหนาวจากทางตอนเหนือ เหนือนกับนกกลุ่มแรก แต่นกกลุ่มนี้เพียงแวะหากินอยู่ในเมืองไทยระยะสั้นๆ ก่อนที่จะอพยพผ่านไปยังที่อื่น สำหรับประเภทที่สามคือ นกอพยพเข้ามาทำรังวางไข่ (Breeding visitor) คือนกที่อพยพเข้ามาทำรังวางไข่ และเลี้ยงดูลูกในเมือไทย เมื่อลูกนกโตและแข็งแรงเพียงพอก็จะอพยพกลับ

วิธีการกินอาหารของนกเค้า
เมื่อนกเค้าจับเหยื่อได้ นกเค้าจะกลืนเหยื่อลงไปทั้งตัว (ต่างจากนกอินทรีและนกเหยี่ยวที่จะฉีกเนื้อของเหยื่อออกเป็นชิ้นเล็กๆ ก่อนกิน) สำหรับกระดูก เล็บ ขน ของสัตว์ที่นกเค้ากลืนลงไปแล้วย่อยไม่ได้ นกเค้าจะขย้อนสิ่งเหล่านั้นออกมามีลักษณะเป็นก้อนกลมๆ (Pellet) โดยจะขย้อนหลังจากที่กินอาหารเข้าไปประมาณ 10 - 15 ชั่วโมง ดังนั้น การตรวจสอบว่า Pellet ของนกเค้าประกอบด้วยโครงกระดูกของสัตว์อะไรบ้าง จึงเป็นวิธีการหนึ่งในการศึกษาประเภทอาหารของนกเค้า 

Saturday, April 11, 2015

นกอีเสือสีน้ำตาล (Brown Shrike)

นกอีเสือสีน้ำตาล
ชื่อภาษาอังกฤษ: Brown Shrike; ชื่อวิทยาศาสตร์: Lanius cristatus



นกอีเสือสีน้ำตาล @ กรุงเทพ ประเทศไทย
ประสาทสัมผัสของนก (SENSES)
นกมีสายตาที่ยอดเยี่ยมมาก นกส่วนใหญ่สามารถมองเห็นสีในธรรมชาติได้ดีกว่ามนุษย์ สามารถมองเห็นสีที่มนุษย์มองไม่เห็น (invisible to the human eyes) สามารถเห็นรายละเอียดของวัตถุเล็ก ๆ ที่อยู่ไกลออกไป นอกจากจะมีสายตาที่ยอดเยี่ยมแล้ว ความสามารถในการรับฟังของนกก็ดีเลิศไม่น้อยไปกว่าการมองเห็น นกสามารถรับฟังและแยกแยะเสียงได้เป็นอย่างดี ยกเว้นก็แต่เพียงการรับรู้กลิ่นของนกเท่านั้นที่ไม่ค่อยดีนัก

Tuesday, February 10, 2015

นกกก หรือ นกกาฮัง (Great Hornbill)

นกกก
ชื่อภาษาอังกฤษ: Great Hornbill; ชื่อวิทยาศาสตร์: Buceros bicornis


นกเงือก
นกกก หรือ นกกาฮัง
นกกก มีปากและโหนกขนาดใหญ่สีเหลือง ปากโค้งปลายปากสีแดงอมเหลือง ตาสีแดง หน้าสีดำ คอสีเหลือง ปีกและลำตัวสีดำ ปีกมีแถบขนสีขาวแซม ท้อง ขา และ หาง สีขาว


นกกก หรือ นกกาฮัง @ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี

Sunday, February 8, 2015

หมาใน (Dhole)

หมาใน
ชื่อภาษาอังกฤษ: Dhole; ชื่อวิทยาศาสตร์:Cuon alpinus
หมาใน (Dhole)
ขณะขับรถผ่านหนองน้ำในป่า เห็นชาวต่างชาติกลุ่มหนึ่งประมาณ 10 คน กำลังใช้กล้องสองตาส่องดูอะไรสักอย่างบริเวณหนองน้ำ ตอนแรกคิดว่าคงส่องดูนกหายากอยู่แน่ๆ เลยหยุดรถและแวะเข้าไปบริเวณที่ชาวต่างชาติกลุ่มนั้นยืนอยู่ ได้ยินไกด์คนไทยอธิบายว่า หมาฝูงนี้ เป็นสัตว์ป่าที่หายาก ผมเลยถ่ายรูปเก็บไว้ มาถึงบ้านก็ค้นดูในหนังสือว่าเป็นพันธุ์อะไรกันแน่ พบว่าเป็น หมาใน ซึ่งเป็นสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ โชคดีที่ หมาใน ถูกจัดเป็นสัตวป่าคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแล้ว ขอให้อยู่คู่กับธรรมชาติเมืองไทยต่อไปครับ ปรู๊ววว.........

หมาใน (Dhole)
หมาใน (Dhole) มีลักษณะใบหูที่กลม จมูกสั้น ลำตัวสีน้ำตาล จะอยู่รวมกันเป็นฝูง ในการออกล่าเหยื่อ หมาในทุกตัวในฝูงจะช่วยเหลือกันเพื่อล่าเหยื่อที่มีขนาดใหญ่ เช่นกวางป่า หมาใน นับว่าเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญในระบบห่วงโซ่อาหาร เพราะเป็นผู้ที่คอยควบคุมไม่ให้สัตว์กินพืช เช่นกวางป่า มีมากเกินไปหมาใน (Dhole) เป็นสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ตามสถานะการอนุรักษ์ของ IUCN 3.1 ในประเทศไทย หมาใน เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 

Friday, January 30, 2015

นกแอ่นพง (Ashy Woodswallow)

นกแอ่นพง
ชื่อภาษาอังกฤษ: Ashy Woodswallow; ชื่อวิทยาศาสตร์:Artamus fuscus


นกแอ่นพง @ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่, ประเทศไทย
นกแอ่นพง ลำตัวด้านบนสีเทาเข้ม ด้านล่างสีน้ำตาลอ่อน กินแมลงเป็นอาหารและชอบดื่มน้ำหวานจากดอกไม้

Ashy Woodswallow @ Khao Yai National Park, Thailand
นกแอ่นพง ชอบเกาะเบียดกันแน่น Ahsy Woodswallows huddle together.

นกแก๊ก (Oriental Pied Hornbill)

นกแก๊ก
ชื่อภาษาอังกฤษ: Oriental Pied Hornbill; ชื่อวิทยาศาสตร์:Anthracoceros albirostris


นกแก๊ก @ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่, ประเทศไทย
วันนี้เดินทางจากอำเภอปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยใช้เส้นทางหมายเลข 2090 ผ่านอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ขึ้นทางด่านตรวจศาลเจ้าพ่อ (Entrance Station Chao Phor Khao Yai) เพื่อจะไปออกทางด่านเนินหอม (Entrance Station Nern Hom) ระหว่างทางได้แวะศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อากาศที่บริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยว กำลังเย็นสบายอุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 18.5 C ระหว่างทีนั่งอยู่บริเวณศูนย์ฯ ได้ยินเสียงร้องของนกชนิดหนึ่งร้องดังมาก มองไปตามทิศของเสียง ก็พบนกแก๊กสองตัวเกาะอยู่บริเวณยอดไม้สูง นกทั้งคู่เกาะอยู่ประมาณ 10 - 15 นาที ก่อนที่จะบินจากไป  


Oriental Pied Hornbill @ Khao Yai National Park, Thailand
Photos taken at Visitor Center Khao Yai National Park, Thailand

นกแก๊ก