นกกระเต็นน้อยธรรมดา
ชื่อภาษาอังกฤษ: Common Kingfisher; ชื่อวิทยาศาสตร์: Alcedo atthis
|
นกกระเต็นน้อยธรรมดา @ กรุงเทพ ประเทศไทย (18 กุมภาพันธ์ 2561) |
ถ่ายภาพนกในสภาพแสงน้อย
เห็นนกกระเต็นน้อยธรรมดาตัวนี้บินมาเกาะตรงกิ่งไม้ช่วงก่อนมืดเป็นประจำ เมื่อถึงวันหยุดก็ได้เวลาไปสร้างบังไพรและเข้าไปนั่งรอ เมื่อถึงเวลานกตัวนี้ก็บินมาเกาะที่กิ่งไม้จริงๆ (ตรงเวลาเป๊ะ) ตอนนั้นตื่นเต้นมากที่ได้เห็นนกกระเต็นในระยะใกล้ๆ เป็นครั้งแรก
หลังจากนั้นก็ได้เวลาถ่ายภาพนกตัวนี้ ช่วงที่กดชัตเตอร์ต้องคอยลุ้นว่านกจะบินหนีไปหรือเปล่านะ เพราะเสียงของชัตเตอร์ทำให้นกกระเต็นหันมองซ้ายทีขวาที แต่นกกระเต็นคงมองไม่เห็นเสียงมาจากตรงไหน เลยเกาะที่เดิมให้ถ่ายภาพไม่บินหนีไปไหน
แม้ว่านกจะเกาะให้ถ่ายภาพแต่ปัญหาที่พบขณะนั้นกลับเป็นเรื่องแสงสว่างที่เริ่มเหลือน้อยลงทุกทีเพราะเป็นช่วงใกล้มืด ก็เลยจะขอนำเทคนิคในการถ่ายภาพในบริเวณแสงน้อยมาเล่าสู่กันฟังครับนะครับ
ควรมีอุปกรณ์ที่เหมาะในการถ่ายภาพในบริเวณแสงน้อย
- เลนส์เทเลโฟโต้ ที่มีรูรับแสง (Aperture) ที่กว้าง ยิ่งรูรับแสงกว้างเท่าไหร่ ยิ่งเหมาะกับการถ่ายภาพนกในสภาพแสงน้อยมากยิ่งขึ้น เช่น เลนส์เทเลโฟโต้ที่มีค่า f/2.8 เหมาะมากกับงานนี้ และควรเป็นเลนส์ที่มีความยาวโฟกัส (Focal Length) ตั้งแต่ 300 mm. ขึ้นไป
- กล้องดิจิตอล ที่สามารถตั้งค่า ISO ได้สูงๆ โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาสัญญาณดิจิตอลรบกวนในภาพ (Noise) จะยิ่งเหมาะกับงานนี้
- ขาตั้งกล้อง ที่สามารถรับน้ำหนักกล้องและเลนส์ที่มีน้ำหนักมากๆ ได้ดี
แต่พบว่า
- เลนส์เทเลโฟโต้ ที่มีรูรับแสง ยิ่งกว้าง (ค่า f น้อย) ยิ่งราคาสูง
- เลนส์เทเลโฟโต้ ที่มีความยาวโฟกัส ยิ่งยาว ยิ่งราคาสูง
- เลนส์เทเลโฟโต้ ที่มีทั้งรูรับแสงที่กว้างและความยาวโฟกัสที่ยาว ยิ่งราคาสูงมากกก...
- กล้องดิจิตอล ที่สามารถตั้งค่า ISO ได้ยิ่งสูง โดยมี Noise ในภาพที่ต่ำ ยิ่งราคาสูง
- ขาตั้งกล้อง ที่มีน้ำหนักยิ่งเบา แต่สามารถรับน้ำหนักได้มากๆ ยิ่งราคาสูง
- สรุปได้ว่า ใครมีอุปกรณ์ตามที่ว่ามาข้างต้นถือว่าโชคดีมากๆ แต่ใครยังไม่มีอุปกรณ์ขั้นสุดยอดอย่างที่ว่ามา ก็สามารถถ่ายภาพนกในสภาพแสงน้อยได้ โดยอาศัยอุปกรณ์เท่าที่เราพอมีอยู่ บวกกับการค้นหาวิธีในการถ่ายภาพและลองผิดลองถูกในการตั้งค่าต่างๆ ของกล้องและเลนส์ของเรา
ค่าต่างๆ ของกล้องและเลนส์ที่ผมตั้ง
- เลือกฟอร์แมตภาพแบบ RAW เพราะสามารถเก็บรายละเอียดภาพนกให้ได้มากสุด
- เลือกโหมดถ่ายภาพแบบ Aperture-Priority เพราะต้องการควบคุมรูรับแสงให้เปิดกว้างสุดขณะถ่ายภาพ และทำให้ภาพเกิดความชัดตื้น ตัวนกจะชัดส่วนฉากหลังจะละลาย
- เปิดรูรับแสง (Aperture) กว้างสุดเท่าที่เลนส์จะสามารถทำได้ เลนส์ที่ผมใช้เปิดกว้างสุดได้แค่ f/5.6 แต่ในหลายๆ ครั้งผมเปิดรูรับแสงให้แคบลงมาอีกหน่อยที่ f/8.0 ภาพที่ได้จะดูชัดกว่าแต่ต้องแลกกับความเร็วชัตเตอร์ที่ลดลง
- ปรับทางยาวโฟกัสให้มากที่สุด เลนส์ที่ผมใช้เป็นเลนส์ซูมมีทางยาวโฟกัสช่วง 70-300 mm. ผมจึงปรับทางยาวโฟกัสไปที่
300 mm. เพราะต้องการภาพที่เข้าถึงตัวนกกระเต็นน้อยธรรมดาให้มากที่สุด
- เลือกโหมดโฟกัสแบบอัตโนมัติ (Autofocus
Mode) โดยการเลื่อนปุ่ม Focus บนเลนส์ไปที่ AF
- เลือก Single-servo AF (AF-S) เพราะนกกระเต็นน้อยธรรมดาตัวนี้เกาะบนกิ่งไม้นิ่งๆ ผมว่าการเลือก AF-S ทำให้กล้องโฟกัสได้เร็วขึ้น
- เลือกโหมดพื้นที่ในการโฟกัสอัตโนมัติ (AF-Area Mode) แบบ Single-point AF
และเลื่อนตำแหน่งโฟกัสไปตรงกลางเซ็นเซอร์ ในสภาพแสงน้อยแบบนี้ผมว่า Single-point AF โฟกัสได้รวดเร็วดี
- ความไวแสง ISO (ISO sensitivity) ตั้งค่ามากสุดเท่าที่จะยอมรับ Noise
ที่จะเกิดขึ้นบนภาพได้ (ขึ้นอยู่กับกล้องแต่ละรุ่น) กล้องที่ผมใช้ตั้ง ISO ที่ 2000 ภาพที่ได้ก็อยู่ในระดับที่ผมยอมรับได้
- การวัดแสง (Exposure) เลือกแบบเฉลี่ยน้ำหนักกลางภาพ (Center-weighted) เพราะผมอยู่ห่างจากนกไม่มากนัก
ประมาณ 5 เมตร
สัดส่วนภาพนกจึงมีพื้นที่บนเซ็นเซอร์ใหญ่พอสมควร แต่ถ้านกอยู่ห่างเกิน 15 เมตร ผมจะเลือกแบบจุด (Spot)
- ค่า White Balance เลือกแบบ Cloudy (6000K)
|
นกกระเต็นน้อยธรรมดา @ กรุงเทพ ประเทศไทย (18 กุมภาพันธ์ 2561) |
|
เทคนิค เนื่องจากผมไม่มีขาตั้งกล้อง การถ่ายนกกระเต็นน้อยธรรมดาครั้งนี้จึงถือกล้องด้วยมือเปล่า ผมจึงเปิดฟังก์ชันชดเชยการสั่น (Vibration Compensation) โดยการเลื่อนปุ่ม VC บนเลนส์ไปที่ ON และพยายามถือกล้องให้นิ่งที่สุด จากนั้นก็โฟกัสไปที่ตาของนกแล้วค่อยจัดองค์ประกอบภาพ ช่วงที่ถ่ายต้องถ่ายแบบรัว อย่างน้อยก็ต้องได้ภาพแบบชัดบ้าง หวังว่าข้อมูลคงเป็นประโยชน์บ้างนะครับ
และฝากขอให้พวกเราช่วยกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติของเราไม่ว่าจะเป็นป่าไม้หรือสัตว์ป่าต่างๆ ให้คงอยู่เพื่อคนรุ่นหลังของพวกเราได้ศึกษาเรียนรู้ต่อไปครับ ขอบคุณครับ