Sunday, April 12, 2015

นกเค้าจุด (Spotted Owlet)

นกเค้าจุก
ชื่อภาษาอังกฤษ: Spotted Owlet; ชื่อวิทยาศาสตร์: Athene brama


นกเค้าจุด @ นครปฐม ประเทศไทย

วันนี้แวะไปที่ดูนกเค้าจุด บริเวณที่เคยเจอเมื่อปีที่แล้ว เมื่อไปถึงก็เจอนกเค้าจุดเกาะกิ่งไม้ต้อนรับอยู่บริเวณเดิม นกเค้าจุดในพื้นที่กรุงเทพฯ - ปริมณฑล สามารถพบเห็นได้ตามบริเวณพื้นที่สีเขียว เช่นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ต่างๆ 



นกเค้าจุด (Spotted Owlet) เป็นนกประจำถิ่น (Resident) ของประเทศไทย คือทำรังอาศัย ผสมพันธ์ุวางไข่ และเลี้ยงดูลูก อยู่ในเมืองไทยตลอดทั้งปี นกเค้าจุดมักจะทำรังบริเวณโพรงไม้ และจะออกหาอาหารช่วงเวลากลางคืน

สถาพของนกที่พบในประเทศไทย
  1. นกประจำถิ่น (Resident)
  2. นกอพยพ (Winter visitor)
  3. นกอพยพผ่าน (Passage migrant)
  4. นกอพยพเข้ามาทำรังวางไข่ (Breeding visitor)
ถ้าลองสังเกตนกชนิดต่างๆ ที่พบในเมืองไทย พบว่านกบางชนิดสามารถพบเห็นได้ตลอดทั้งปี ขณะที่บางชนิดจะพบได้เฉพาะบางช่วงของปีเท่านั้น นกที่พบได้ตลอดทั้งปี เรียกว่า นกประจำถิ่น (Resident) คือนกที่ ทำรังวางไข่ เลี้ยงลูก และหากินในเมืองไทยตลอดทั้งปี ส่วนนกที่พบได้ในบางช่วงของปีนั้นส่วนใหญ่จะเป็นนกอพยพ แบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ ประเภทแรก นกอพยพ (Winter visitor) คือนกที่อพยพหนีอากาศหนาวเย็นในช่วงฤดูหนาวทางตอนเหนือ เข้ามาหากินในประเทศไทย และจะอพยพกลับไปทำรังวางไข่ทางตอนเหนือ ประเภทที่สองคือ นกอพยพผ่าน (Passage migrant) คือนกที่อพยพหนีหนาวจากทางตอนเหนือ เหนือนกับนกกลุ่มแรก แต่นกกลุ่มนี้เพียงแวะหากินอยู่ในเมืองไทยระยะสั้นๆ ก่อนที่จะอพยพผ่านไปยังที่อื่น สำหรับประเภทที่สามคือ นกอพยพเข้ามาทำรังวางไข่ (Breeding visitor) คือนกที่อพยพเข้ามาทำรังวางไข่ และเลี้ยงดูลูกในเมือไทย เมื่อลูกนกโตและแข็งแรงเพียงพอก็จะอพยพกลับ

วิธีการกินอาหารของนกเค้า
เมื่อนกเค้าจับเหยื่อได้ นกเค้าจะกลืนเหยื่อลงไปทั้งตัว (ต่างจากนกอินทรีและนกเหยี่ยวที่จะฉีกเนื้อของเหยื่อออกเป็นชิ้นเล็กๆ ก่อนกิน) สำหรับกระดูก เล็บ ขน ของสัตว์ที่นกเค้ากลืนลงไปแล้วย่อยไม่ได้ นกเค้าจะขย้อนสิ่งเหล่านั้นออกมามีลักษณะเป็นก้อนกลมๆ (Pellet) โดยจะขย้อนหลังจากที่กินอาหารเข้าไปประมาณ 10 - 15 ชั่วโมง ดังนั้น การตรวจสอบว่า Pellet ของนกเค้าประกอบด้วยโครงกระดูกของสัตว์อะไรบ้าง จึงเป็นวิธีการหนึ่งในการศึกษาประเภทอาหารของนกเค้า 

Saturday, April 11, 2015

นกอีเสือสีน้ำตาล (Brown Shrike)

นกอีเสือสีน้ำตาล
ชื่อภาษาอังกฤษ: Brown Shrike; ชื่อวิทยาศาสตร์: Lanius cristatus



นกอีเสือสีน้ำตาล @ กรุงเทพ ประเทศไทย
ประสาทสัมผัสของนก (SENSES)
นกมีสายตาที่ยอดเยี่ยมมาก นกส่วนใหญ่สามารถมองเห็นสีในธรรมชาติได้ดีกว่ามนุษย์ สามารถมองเห็นสีที่มนุษย์มองไม่เห็น (invisible to the human eyes) สามารถเห็นรายละเอียดของวัตถุเล็ก ๆ ที่อยู่ไกลออกไป นอกจากจะมีสายตาที่ยอดเยี่ยมแล้ว ความสามารถในการรับฟังของนกก็ดีเลิศไม่น้อยไปกว่าการมองเห็น นกสามารถรับฟังและแยกแยะเสียงได้เป็นอย่างดี ยกเว้นก็แต่เพียงการรับรู้กลิ่นของนกเท่านั้นที่ไม่ค่อยดีนัก